เมนู

อรรถกถาสาลุกชาดกที่ 6


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันวิหาร ทรงปรารภ
การประเล้าประโลมของนางถูลกุมาริกา จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า
มา สาลุกสฺส ปิหยิ ดังนี้.
เรื่องการประเล้าประโลมของนางกุมาริกานั้น จักมีแจ้งใน
จูฬนารทกัสสปชาดก. แต่ในที่นี้พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า
ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสันขึ้นแล้วจริงหรือ ? ภิกษุนั้น กราบ-
ทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสถามว่า ใครทำให้เธอ
กระสันขึ้นมา ? ภิกษุนั้นกราบทูลว่า นางถูลกุมาริกาพระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ นางถูลกุมาริกา เป็นผู้กระทำความ
ฉิบหายให้แก่เธอ แม้ในกาลก่อน เธอก็ได้เป็นแกงอ่อมของบริษัท
ที่มา ในวันวิวาห์ของนางถูลกุมาริกานี้ อันภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนา
แล้ว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนคร
พาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นโคผู้ชื่อว่ามหาโลหิต ส่วนน้องชายของ
พระโพธิสัตว์นั้น ได้เป็นโคผู้ชื่อว่า จุลลโลหิต. โคทั้งสองตัวนั้นทำ
งานในตระกูลหนึ่งในหมู่บ้าน. ตระกูลนั้น มีนางกุมาริกาคนหนึ่งกำลัง
เจริญวัย. ตระกูลอื่นได้ขอนางกุมาริกานั้น. ครั้งนั้นตระกูลนั้นคิดว่า
ในกาลวิวาหมงคลจักมีแกงอ่อม จึงปรนเปรอสุกรชื่อว่าสาลุกะด้วย

ข้าวยาคูและภัต. สาลุกสุกรนั้นนอนอยู่ใต้เตียง. อยู่มาวันหนึ่ง โค-
จุลลโลหิตกล่าวกะพี่ชายว่า พี่พวกเราทำการงานในตระกูลนี้ ตระกูล
นี้อาศัยพวกเราเลี้ยงชีวิต ก็แหละ เมื่อเป็นอย่างนั้น มนุษย์เหล่านี้
ให้แต่หญ้าและฟางแก่พวกเรา แต่เลี้ยงดูสุกรตัวนี้ด้วยข้าวยาคูและภัต
และให้นอนใต้เตียง สุกรตัวนี้จักทำอะไรแก่คนเหล่านี้. โคมหาโลหิต
กล่าวว่า พ่อ เจ้าอย่าปรารถนาข้าวยาคูและภัตของสุกรตัวนี้เลย ก็
ในวันวิวาหมงคลของนางกุมาริกานี้ เขาประสงค์จะทำสุกรตัวนี้ให้
เป็นแกงอ่อม จึงเลี้ยงสุกรตัวนี้ด้วยข้าวยาคูและภัต เพื่อกระทำเนื้อ
ให้เป็นกล้าม ๆ อีก 2-3 วัน เจ้าจะเห็นสุกรตัวนั้นถูกเขาฉุดลาก
ออกจากใต้เตียงแล้ว ฆ่าสับให้เป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ กระทำให้เป็น
อาหาร สำหรับเลี้ยงแขก ดังนี้ แล้วตั้งคาถา 2 คาถาแรกว่า :-
ท่านอย่าปรารถนาต่อสาลุกสุกรเลย
เพราะเขาบริโภคอาหารอันเดือดร้อน ท่านจง
เป็นผู้มีความขวนขวายน้อยเคี้ยวกินแกลบ
เถอะ นี้เป็นลักษณะแห่งความอายุยืน.
ในไม่ช้า ราชบุรุษผู้มีบริวารมากนั้น
จะเป็นแขกมาประชุมกันที่นี้ ในการนั้น
ท่านก็จะได้เห็นสาลุกสุกรตัวนี้ ถูกเขาทุบ
ด้วยสากตะลุมพุก นอนตายอยู่.

ในกาลนั้น มีเนื้อความสังเขปดังต่อไปนี้ :- พ่อมหาจำเริญ
ท่านอย่าปรารถนาภาวะเช่นสาลุกสุกรเลย เพราะว่าสาลุกสุกรนี้
บริโภคอาหารอันเดือดร้อน คือโภชนะเครื่องฆ่าตน ซึ่งบริโภคแล้ว
ไม่นานนักจักถึงความตาย แต่ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย ไม่
ห่วงใย เคี้ยวกินแกลบปนฟางนี้ที่ตนได้แล้วเถิด นี้เป็นลักษณะ คือ
เป็นนิมิตรให้รู้ถึงความเป็นผู้มีอายุยืนยาว บัดนี้ คือไม่นานนัก ราช-
บุรุษผู้มาในงานวิวาหมงคลนั้น ชื่อว่าอำมาตย์ราชเสวก เพราะ
ประกอบด้วยบริวารเป็นอันมาก จักเป็นแขกมาในที่นี้ เมื่อนั้นแหละ
ท่านจะได้เห็นสาลุกสุกรนี้ ถูกทุบด้วยสากตะลุมพุก เพราะประกอบ
ส่วนข้างบนเหมือนสาก นอนตายอยู่.
ต่อมาสองสามวันเท่านั้น เมื่อแขกในงานวิวาหมงคลพากันมา
แล้ว เจ้าของงานทั้งหลายได้ฆ่าสาลุกสุกรทำเป็นแกงอ่อม. โคทั้งสอง
เห็นความวิบัตินั้นของสาลุกสุกรนั้น จึงปรึกษากันว่า แกลบเท่านั้น
เป็นของประเสริฐสำหรับพวกเรา. พระศาสดาทรงเป็นผู้ตรัสรู้พร้อม
เฉพาะแล้ว จึงตรัสพระคาถาที่ 3 อันเกิดจากเรื่องนั้นว่า :-
วัวชราทั้งสองได้เห็นสาลุกสุกรผู้กล้า-
หาญ ถูกเจ้าของทุบด้วยสากตะลุมพุกนอน
ตายอยู่ จึงได้คิดกันว่า ข้าวลีบเท่านั้นเป็น
อาหารอย่างสูงสุดของพวกเรา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ภุสามิว ความว่า ข้าวลีบเท่านั้น
เป็นอาหารประเสริฐ คือสูงสุดของเรา.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศ
สัจจะแล้วทรงประชุมชาดก. ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ใน
โสดาปัตติผล. ถูลกุมาริกาในครั้งนั้น ได้เป็นนางถูลกุมาริกาในบัดนี้
แหละ สาลุกสุกรในครั้งนั้น ได้เป็นภิกษุผู้กระสันในบัดนี้ โคจุลล-
โลหิตในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนโคมหาโลหิตใน
ครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนั้นแล.
จบ อรรถกถาสวลุกชาดกที่ 6

7. ลาภครหิกชาดก


วิธีการหลอกลวง


[460] ไม่ใช่คนบ้าทำเป็นเหมือนคนบ้า ไม่
ใช่คนส่อเสียดก็ทำเป็นเหมือนคนส่อเสียด
ไม่ใช่นักฟ้อนรำก็ทำเป็นเหมือนนักฟ้อนรำ
ไม่ใช่คนตื่นข่าวก็ทำเป็นเหมือนคนตื่นข่าว
ย่อมจะได้ลาภในคนผู้หลงใหลทั้งหลาย นี้
เป็นคำสั่งสอนสำหรับท่าน
[461] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ น่าติเตียนความ
ประพฤตอันเป็นเหตุให้ได้ยศและทรัพย์โดย
ทำชื่อเสียงให้ตกไป หรือโดยไม่เป็นธรรม.
[462] อนึ่ง ถ้าบุคคลจะถือเอาบาตรออกไป
บวชเสีย ความเป็นอยู่นี้แล ประเสริฐกว่า
การแสวงหาโดยอธรรม.

จบ ลาภครหิกชาดกที่ 7

อรรถกถาลาภครหิกชาดกที่ 7


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ
ภิกษุสัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า
นานุมฺมตฺโต ดังนี้.